วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัดป่าวชิรบรรพต ชลบุรี

     
                              ใด ใด ในโลกล้วน         อนิจจัง
                              คงแต่บาปบุญบุญยัง      เที่ยงแท้
                              คือเงาติดตัวตรัง           ตรึงแน่น อยู่นา
                              ตามแต่บาปบุญแล้        ก่อเกื้อ รักษา
                                                              (จากลิลิตพระลอ ภาษาไทยในวัยเด็ก..)


        ชีวิตการทำงานทุกวันนี้ ต้องดิ้นรนแก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เหยียบย่ำคนอื่นเพื่อถีบตัวเองขึ้นไปเป็นใหญ่  ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง..

        ผู้คนที่เหนื่อยหน่ายกับสังคมจอมปลอมเหล่านี้ นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ  "วัด" จึงกลายเป็นสถานที่รองรับ ที่พักใจ สำหรับใครหลายคน ซึ่งแสวงหาสัปปายะสถาน หลบพักใจ เยียวยาดวงจิตที่บอบช้ำจากสังคม แม้จะเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตามที.. ..

    

         วัดป่าวชิรบรรพต จ.ชลบุรี  นับเป็นสัปปายะสถานอีกแห่งหนึ่ง สำหรับผู้แสงหาความวิเวก สงบ เรียบง่าย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก ไม่ต้องเที่ยวขับรถไปไกลหลายร้อยกิโลก็สามารถสัมผัสได้ถึงความสงบ ร่มรื่น ภายใต้อ้อมกอดแห่งแมกไม้และป่าเขา ..


        วัดป่าวชิรบรรพต ตั้งอยู่เลขที่57/2 ต.หนองข้างคอก อ.เมือง จ.ชลบุรี  สามารถดูประวัติของวัดและเยี่ยมชมเวปไซด์ของทางวัดได้ที่ http://www.watpahwachirabanpod.ob.tc/index.html

 
      
         ผู้เขียนเองเคยได้มีโอกาสไปอาศัยกุฏิเล็กๆ ของวัดป่า วชิรบรรพตแห่งนี้  เพื่อถือศีลเจริญภาวนาอยู่หลายครั้ง  ทำให้ได้รับประสบการณ์ดีๆแก่ชีวิต  แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น จากการที่ได้ปลดเปลื้องภาระหน้าที่การงานทางสังคม ไปใช้ชีวิต สงบ เรียบง่าย ตื่นนอนตี3ครึ่งเพื่อมาทำวัตรเช้า  หลังทำวัตรเสร็จก็ช่วยเก็บกวาดทำความสะอาดเตรียมสถานที่ ใว้รอรับญาติโยมที่จะมาทำบุญ  ทั้งยังได้ประสบการณ์แปลกใหม่ของการเป็นเด็กวัด สะพายย่ามเดินตามหลังหลวงพี่ออกบิณฑบาตในยามเช้า ได้เห็นวิถีชีวิตแห่งศรัทธาของชาวบ้าน ที่ตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมของรอใส่บาตรพระ   รวมถึงประสบการณ์เสียวในยามที่เดินผ่านนักเลงเจ้าถิ่น ต้องคอยแอบหลังหลวงพี่ เพราะเกรงใจเสียงที่มันเห่าและทำท่าจะเข้ามากัด(หมาอ่ะ)  ด้วยไม่คุ้นกลิ่นและสีเหมือนอย่างหลวงพี่..

หลังนี้น่าจะเคยมาพักเมื่อปีที่แล้ว
              กลับจากตามหลวงพี่ไปบิณฑบาตมา ก็มาปัดกวาดลานวัด ทำความสะอาดสถานที่ ก่อนจะกลับที่พักไปทำกิจวัตรส่วนตัว  ราวๆ8โมงครึ่งถึงได้กลับมารอรับประทานอาหาร  กว่าพิธีการต่างๆจะเสร็จก็เกือบ10โมงเช้า ซึ่งที่นี่จะฉันวันละมื้อเท่านั้น

กุฎิที่พักพระสงฆ์และอุบาสกผู้มาอาศัยสถานที่ปฏิบัตธรรม
        
        
        สิ่งหนึ่งที่รู้สึกประทับใจในวัดป่าแห่งนี้คืออัธยาศรัยไมตรีอันดีของ "หลวงพ่อ"  เพราะไปทีไรก็มักจะเห็นหลวงพ่อ พระอาจารย์มหาตอง นั่งสนทนากับญาติโยมอย่างไม่รู้จักเหนื่อยหน่าย จนกลายเป็นภาพที่คุ้นตา  ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ขาประจำหรือขาจร ท่านก็ต้อนรับ พูดคุยด้วยความเมตตา แม้บางครั้งท่านจะเจ็บป่วย สุขภาพไม่อำนวยก็มิเคยปฏิเสธญาติโยมที่เข้าชวนท่านสนทนาด้วย..


        ยังจำครั้งแรกที่ไปกราบหลวงพ่อได้ เมื่อหลายปีก่อน แม้ไม่เคยรู้จักเรามาก่อน แต่ท่านก็ให้ความเมตตาพูดคุยซักถาม ด้วยรอยยิ้มอย่างเป็นกันเอง แถมยังสอนเรื่องการกราบที่ถูกวิธีให้อีกต่างหาก ตั้งแต่นั้นมา เวลาจะกราบพระที ต้องนึกถึงหลวงพ่อทุกครั้งไป ถ้ากราบไม่ถูกเดี๋ยวหลวงพ่อเสียใจแย่..
 
    

        ผู้ที่มาถือศีล ปฏิบัติธรรมที่นี่ นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องศีล สมาธิแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องพระอภิธรรมอีกด้วย เพราะทุกครั้งที่ทำวัตรสวดมนต์เสร็จ จะมีท่องพระอภิธรรม เช่น เรื่องของเจตสิก เป็นต้น  และทุกวันในช่วงที่ไปอยู่วัด จะเห็นหลวงพ่อท่านลงมานำทำวัตร สวดมนต์อย่างไม่เคยขาดแม้สักครั้งเดียว..


        ****************************************************************************************

         สำหรับผู้ญาติธรรม ท่านใด ที่กำลังมองหาสถานที่ปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษานี้  ก็ลองแวะมาทำบุญหรือเยี่ยมชมสถานที่ และกราบขออนุญาตหลวงพ่อเพื่อเข้าพักได้ทุกวัน หากต้องการสถานที่ร่มรื่น ห่างไกลจากชุมชน สงบ วิเวก วัดป่าวชิรบรรพต น่าจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ตอบโจทย์ให้ท่านได้..

       ภาพบรรยากาศทั่วไปของวัดป่า วชิรบรรพต


   
          ทางขึ้นไปพระอุโบสถ สองข้างทางเรียงรายด้วยมวลพฤกษาเขียวขจี โบกกิ่งใบต้อนรับผู้มาเยือนตามแรงลมที่พัดผ่าน บางครั้งจะเห็นกระรอกน้อยวิ่งหยอกล้อเล่นกัน กระโดดข้ามกิ่งไม้ไปมา น่าทัศนายิ่งนัก ดูแล้วให้ความรู้สึกสงบ ร่มรื่น สบายตาสบายใจ ประหนึ่งเดินอยู่ในป่าจริงๆ.. 



         เรือนอุบาสิกา หลังนี้ เป็นที่พักของอุบาสิกา(โยมผู้หญิง) ที่มาปฏิบัติธรรม ตัวอาคารถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย ติดอันดับสถาปัตยกรรมในการออกแบบยอดเยี่ยมระดับประเทศมาแล้ว  มีที่พักกว้างขวาง สามารถรองรับคนได้กว่า100คน

    
          ด้านล่างอาคารออกแบบยกสูงให้ลมผ่านได้สะดวก เมื่อเดินเข้ามาจะรู้สึกเย็นสะบาย โดยไม่ต้องอาศัยพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ  เหมาะแก่การนั่งสมาธิ และเดินจงกรมเป็นอย่างยิ่ง  ส่วนชั้นบนแบ่งเป็นห้องพักอย่างเป็นสัดส่วน มีระเบียงสวยงาม เสียดายที่ไม่มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชม เพราะมีกฎระเบียบห้ามผู้ชายเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต
 



               
พระอุโบสถ
        


           ถัดจาก เรือนอุบาสิกา ขึ้นมาทางเนินเขา จะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบได้อย่างลงตัว ดูงดงาม เรียบง่าย แม้จะไม่มีภาพเกาะสลัก ลวดลายวิจิตรอย่างโบสถ์ทั่วๆไป แต่อาคารไม้หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดงซีด ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ก็ให้ความรู้สึกสงบ ร่มรื่นไปอีกแบบ

ภาพภายนอกพระอุโบสถ (ปัจจุบันถูกปรับภูมิทัศน์รอบนอกไปแล้ว)

ภายในพระอุโบสถ
  
วิวด้านหลังวัด



ภูมิทัศน์รอบนอกก่อนถึงประตูทางเข้าวัด


สภาพภูมิประเทศ แถวๆ ต.หนองรี (ไม่ไกลจากวัดมากนัก)

                                   
    xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

             
       เมื่อวันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมพิธีเวียนเทียนที่วัดป่าวชิรบรรพตอีกครั้ง  ทำให้อดนึกถึงวันอาสาฬหบูชาปีที่ผ่านมาไม่ได้  ตอนนั้นไปในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมภายใต้อาภรนุ่งห่มสีขาวบริสุทธิ์  แต่ปีนี้ไปในฐานะพุทธศาสนิกชนคนนึง  ได้เห็นอุบาสก อุบาสิกา ที่ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมมากมายก็ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆท่าน..



        
          ขับรถมาถึงวัดราวๆ1ทุ่ม  เพราะวันอาสาฬหบูชาปีนี้ (2554) ตรงกับวันศุกร์ ที่โรงงานไม่ได้หยุดให้ เลยต้องแวะมาหลังจากเลิกงานแล้ว  ทำให้ได้เห็นความสวยงามของทางเข้าวัด ที่ประดับด้วยโคมผ้า ศีล สมาธิ ปัญญา..สว่างไสวท่ามกลางรัตติกาลอันมืดมิด เรียงรายตามสองข้างทาง ประหนึ่งแส่งสว่างนำทางสู่สรวงสวรรค์..
 
  
         ต้องขอชื่นชม และยกย่องในความร่วมแรงร่วมใจกับผู้ที่ช่วยกันรังสรรค์ และสร้างจินตนาการที่งดงามเหล่านี้ขึ้นมา จนก่อเกิดภาพที่สวยงามอย่านี้  ขอโมทนาในบุญกุศลกับทุกท่านใว้ ณ ด้วยครับ..


 
  
         เดินผ่านแนวป่าขึ้นมาบนเนินเขา อันเป็นที่ประกอบพิธีเวียนเทียน ตลอดสองข้างทางมีเสาตะเกียงน้ำมัน ตั้งเรียงราย เป็นระยะ พอได้มองเห็นทาง ให้ความรู้สึกขรึมขลัง เหมือนเดินอยู่ท่ามกลางพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์..




         พอใกล้ถึงพระอุโบสถ เสียงสวดมนต์ภาษาบาลี ตามด้วยเสียงแปลภาษาไทย แว่วมาตามสายลมเป็นระยะ ประหนึ่งเสียงบำบวงเหล่าทวยเทพในพิธีกรรมโบราณ

      

          ขึ้นมาถึงพระอุโบสถ ก็จวนจะได้เวลาเวียนเทียนแล้ว พิธีไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเย็นใกล้จะสิ้นสุด  มีเวลาให้เดินเก็บภาพบรรยากาศอีกไม่นานก่อนถึงเวลาเวียนเทียน..

        
องค์พระประธานในอุโบสถ
          
พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำวัตร สวดเย็นรอบพระอุโบสถ
  

หลวงพ่อนำประกอบพิธี ทำวัตร สวดมนต์ภายในพระอุโบสถ

หลวงพ่อนำประกอบพิธี ทำวัตร สวดมนต์ภายในพระอุโบสถ


ญาติโยมด้านนอกร่วมทำวัตร สวดมนต์ด้วยความสงบ สำรวม กายใจ 
 
อีกมุมหนึ่งที่ญาติโยมร่วมกันทำวัตร สวดมนต์ รอบนอกพระอุโบสถ 

ญาติโยมด้านนอกร่วมทำวัตร สวดมนต์ 

         บรรยากาศวันนี้ ดูสงบ เย็นสบาย  คงเพราะเมฆฝนตั้งเค้าตั้งแต่หัวค่ำ รอบพระอุโบสถ..สายลมเย็นพัดผ่านมาเป็นระยะๆ  แม้ค่ำคืนแห่งปุรณมีดิถีนี้ ท้องฟ้าจะมิได้ทาบทาด้วยแสงสีนวลจากดวงจันทรา แม้ท้องฟ้าจะครึ้มหม่น  แต่เม็ดฝนก็มิได้ร่วงหล่นโปรยปรายให้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด จะมีก็เพียงแต่ละอองเล็กๆ พร่างพรมลงมาเพียงบางเบา ประหนึ่งน้ำพระพุทธมนต์จากสรวงสวรรค์ ...


 
                                  *********************************************************

  ข้อคิดและคติเกี่ยวกับการเวียนเทียน..  (เก็บมาฝาก)

        การเวียนเทียน คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่นอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยใน วันสำคัญต่างๆ โดยใช้เทียนธูปและดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชา ถือไว้ในมือแล้วเดินเวียน 3 รอบ ขณะที่เดินรอบนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท"อิติปิโส" ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ


เริ่มพิธีเวียนเทียน

         พิธีการเวียนรอบปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถานเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนั้น ไทยได้รับคตินี้มาจากอินเดียพร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่าเวียนประทักษิณาวัตร คือเวียนขวา 3 รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูงสุด

เตรียมจุดธูปเวียนเทียน

         การเวียนเทียน 3 รอบ การเวียนเราจะเวียนขวา ก็คือการเอาสิ่งที่เราเคารพไว้ด้านขวา เรียกว่าความเคารพต่อพระธาตุเจ้า การประทักษิณเราจะต้องตั้งปณิธาน การที่เขาให้เวียน 3 รอบนั้น เพื่อให้รู้สังสารวัฏเรานี้ มันมีเวียนว่ายตายเกิด เหมือนวงล้อมันหมุนไป แล้วมันกลับมาที่เดิมหาเบื้องต้น และเบื้องปลายไม่ได้ สังสารวัฏของเรานี้ไม่มีเบื้องต้น และเบื้องปลาย ถ้าตัวเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว วิญญาณของคนเรานี้ จะไม่มีที่สิ้นสุด
      
หลวงพ่อเดินนำญาติโยมเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ

        ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงให้มีการเวียนประทักษิณ การเวียนประทักษิณไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทวดา พระอินทร์ก็ยังประทักษิณที่ พระเกษแก้วจุฬามณีทุกวันศีล ไม่ใช่พระอินทร์เท่านั้น หน่อโพธิสัตว์ชื่อศรีอริยเมตตรัยก็มาวันศีล หมู่มนุษย์หมู่ศรัทธา เราบางคนไม่รู้จักคุณค่าของพระธาตุมาเวียนเฉพาะ วันวิสาขะบูชา วันอาสาฬหบูชา วันศีลไม่ยอมมาเวียนกัน ดูอย่างพระอินทร์ พระโพธิสัตว์พระศรีอริยเมตตรัยไปทุกวันศีล ที่ไปนี้เพราะท่านเห็นคุณค่าของสิ่งที่ประเสริฐ มนุษย์บางคนนี้ ไม่รู้จักสิ่งที่มีคุณค่า เพราะเขาไม่มีเจตนาไปประทักษิณ แต่หมู่ศรัทธานี้ ให้เอาพระอินทร์ พระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง ให้ไปประทักษิณทุกวันศีล 1.เพื่อการเคารพบูชา 2.เมื่อวนสามรอบจะได้นึกถึงสังสารวัฏนี้เพื่อจะได้มีใจปฏิบัติ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้ 

ก้าวเดินด้วยความสงบ อย่างมีสติ
    

          สังสารวัฏนี้ประกอบด้วย กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ คือ อะไรทำให้วนเวียนคือกรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ คือ ผลของกรรมที่ทำให้วนเวียน กิเลสวัฏฏ์ คือ กิเลสทำให้เรามาวนเวียน



สงบ สำรวม ในทุกย่างก้าว..


แสงเทียนแห่งศรัทธา


สายธารแห่งแสงธรรม







เหล่าพุทธศาสนิกชนร่วมนั่งสมาธิหลังเวียนเทียนเสร็จแล้ว



นั่งสมาธิหลังจากเวียนเทียนเสร็จ
  
นั่งสมาธิหลังจากเวียนเทียนเสร็จ
 
นั่งสมาธิหลังจากเวียนเทียนเสร็จ
  


           ตราบใดที่ชีวิตคนเราที่ยังต้องเวียนเกิดเวียนว่าย เวียนตายเวียนดับ ตราบนั้นชีวิตก็ยังประสบกับความทุกข์อย่างมิอาจปฏิเสธได้
          พระพุทธองค์กล่าวว่า " ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เป็นทุกข์ ความแห้งแล้ง หรือความโศรกเศร้า ความพิไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรมิได้ดังใจหมาย ทั้งหมดนี้..ล้วนเป็นทุก์"
         
         เราทั้งหลาย จงอย่าหวังอะไรให้มากนัก จงมองดูชีวิตอย่างผู้ช่ำชอง อย่าวิตกกังวลอะไรล่วงหน้า ชีวิตนี้เหมือนเกลียวคลื่น ซึ่งก่อตัวขึ้นแล้วม้วนเข้าหาฝั่ง และแตกกระจายเป็นฟองฝอย จงยืนมองดูชีวิตเหมือนคนผู้ยืนอยู่บนฝั่ง มองดูเกลียวคลื่นในมหาสมุทรฉะนั้น...


                                                                                                      

                                                                                                            นะโมพุทธายะ
                                                                                               

                                  ********************************************************
  
     แผนที่ทางไปวัดป่าวชิรบรรพต  ( ที่มา:http://www.watpahwachirabanpod.ob.tc/index.html)





   เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา 


        วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน 
        วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ  อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก เป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัย ครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
       ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธี อาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล ....

 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เสียงสวดธรรมจักร

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความสุขที่ถูกมองข้าม



        
         หากเราโยนกระดูกสักชิ้นให้หมา ด้วยสัญชาตญาณสัตว์ มันจะวิ่งไปคาบกระดูกนั้นทันที  แต่ถ้าเราโยนกระดูกชิ้นใหม่เข้าไปอีก  มันจะรีบคายกระดูก ชิ้นเก่าและวิ่งไปคาบชิ้นใหม่แทน ทั้งๆที่กระดูกทั้งสองชิ้นมีขนาดและรสชาติเดียวกัน..  

      

 
 
       เมื่อหันมามองคนเรา ..ก็ไม่แตกต่างกัน  เพราะคนเรามักมีความสุขจากการได้มา มากกว่าความสุขจากการมีอยู่.. มีเท่าไรก็ยังอยากได้มาใหม่ เพราะเราคิดว่าของใหม่จะให้ความสุขแก่เรามากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม ..
       
       คนส่วนมากยังเชื่อว่า ยิ่งมีเงินทองมากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากเท่านั้น..  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  คนที่เป็นผู้จัดการก็น่าจะมีความสุขกว่าพนักงานระดับล่าง เพราะว่ามีเงินเดือนมากกว่า คนที่เป็นมหาเศรษฐี ก็น่าจะมีความสุขกว่าชาวนา เพราะมีบ้านหลังโตกว่า   แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่      
     
       จากตัวอย่างของมหาเศรษฐีหมื่นล้านบางคน ที่ไม่รู้จักคำว่าพอ  ยิ่งมีเท่าไหร่ยิ่งอยากได้เพิ่มเท่านั้น  ด้วยคิดว่าถ้ามีเยอะกว่านี้ จะมีความสุขมากกว่าเดิม เขาต้องออกแรงไล่ล่า แย่งชิงกับคู่แข่ง ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการดิ้นรนขวนขวยหาเงินทองอย่างไม่รู้จบ เมื่อมีเงินทองก็อยากได้อำนาจ เลยเอาเงินไปซื้อตำแหน่งทางการเมือง เพื่อใช้เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพวกพ้อง เมื่อมีคนออกมาเปิดโปงก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน ไม่มีแม้แผ่นดินจะอยู่ ครอบครัวแตกระส่ำระสาย ทรัพย์สินเงินทองก็ถูกยึดเอาไปเป็นของแผ่นดิน  แล้วอย่างนี้ชีวิตจะมีความสุขได้อย่างไร .. 
      
       ลองหันกลับมามองดูตัวเราเองบ้าง ทำไมเรายังไม่หยุดซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ รองเท้าคู่ใหม่ หรือว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ทั้งๆที่มีอยู่เดิมก็ยังใช้งานได้   บางคนเสื้อผ้าหรือรองเท้าที่มีอยู่มากมาย ยังใส่ไม่ครบทุกตัวหรือทุกคู่ด้วยซ้ำไป แต่ทำไมเราถึงยังอยากจะได้อีกไม่หยุดหย่อน นั่นเพราะเราคิดว่า สิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากกว่าสิ่งที่ได้มาใหม่  หลงคิดกันว่า ของใหม่จะให้ความสุขมากกว่าของที่มีอยู่เดิม  ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงทุกอย่างก็คงจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือ ไม่นานเมื่อของใหม่กลายเป็นของเก่า ความสุขที่เคยชื่นชมก็ค่อยๆจางหายไป ผลก็คือ กลับรู้สึกเฉยๆเหมือนเดิม สุดท้ายก็ต้องออกไล่ล่าหาของใหม่มาอีก เพื่อจะได้มีความสุขกว่าเดิม วนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป แล้วเมื่อไรชีวิตจะมีความสุขเสียที..


         บ่อเกิดแห่งความสุขมีอยู่กับทุกคน ในทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้อง     ไปเที่ยววิ่งแสวงหาจากที่ไหนให้เหนื่อยเปล่า  เพียงแต่เรามองข้ามไป หรือไม่รู้จักเท่านั้น   ลองหันมองสิ่งที่เรามีอยู่ และเป็นอยู่  ไม่ว่ามิตรภาพ   ครอบครัว สุขภาพ รวมทั้งจิตใจของเราเอง
      
       จงมีความสุขจากการปล่อยวาง  จากสิ่งที่เรามี และเราเป็น  และขั้น ต่อไปคือการแสวงหาความสุขจากการให้  มีความสุขจากการได้เห็นคราบ    น้ำตาของผู้อื่นเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม มีความสุขกับการได้ทำความดี  ซึ่งจากจุดนี้เองที่จะทำให้ชีวิตเรามีคุณค่าและความหมาย  

    
         
           ชีวิตเกิดมาทั้งที ควรได้มีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขจากการให้และการมี เพราะนั่นคือความสุขที่สงบร่มเย็น และยั่งยืนอย่างแท้จริง..

                                                                                                                                                                                                                              นะโมพุทธายะ

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดป่าอัมพวัน ชลบุรี

       ถานที่สัปปายะ.. แวดล้อมด้วยหุบเขาเงาป่า และสายน้ำ ให้ความรู้สึกสงบ ร่มเย็นทุกครั้งที่มาเยือน "วัดป่าอัมพวัน" นับเป็นอีกที่หนึ่งของผู้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม  ทั้งเพื่อหวังขัดเกลากิเลสตัณหาในใจมุ่งสู่ทางหลุดพ้น หรือเพียงเพื่อมาสงบจิตใจในยามที่มรสุมแห่งความทุกข์พัดผ่านเข้ามาในชีวิต..
      วัดป่าอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดสาขาวัดหนองป่าพงที่ 42ตั้งอยู่ในเขต ต.หนองรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ทางที่จะไปบ้านบึง (ดูแผนที่ข้างล่าง) เป็นวัดป่ากรรมฐานในสายพระโพธญาณเถร (หลวงพ่อชาสุภัทโท)

                                          ป้ายบอกทางไปวัดป่าอัมพวัน
       จากปากทางถนนสายชลบุรี-บ้านบึง เข้ามาประมาณ 3-4 ก.ม. จะเห็นป้ายบอกทางเป็นระยะ นำทางมุ่งสู่เชิงเขาที่ติดกับอ่างเก็บน้ำช่องมะเฟือง อันเป็นที่ตั้งของ วัดป่าอัมพวัน  
 
     
        ผ่านประตูวัดเข้าไปจะเห็นกวางสองตัวนี้นอนเฝ้าธรรมจักรกับอยู่ด้านขวามือติดกับริมรั้ว


       "ตราบใดที่คนเรายังคงมุ่งแสวงหาความสุขจากภายนอก ความสุขแบบโลกๆที่ต้องพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ จากคนอื่น ..ตราบนั้น เราก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในกองทุกข์เรื่อยไปอย่างไม่มีวันสิ้นสด.."


           หากจะมาทำบุญในตอนเช้าที่ วัดป่าอัมพวัน แห่งนี้ ขอแนะนำให้มาถึงวัดก่อนเวลา9.00น.
หรือถ้าจะให้ดีควรมาถึงวัดช่วง 7.00-8.30 เพื่อจะได้มีเวลาจัดสำรับอาหารและหาที่นั่งบนศาลาเพื่อฟังธรรมและรับศีลรับพรจากหลวงพ่อ.. 


      "คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงวัดเมื่อในยามที่ชีวิตประสบความทุกข์ จะหันหน้าหาธรรมก็ต่อเมื่อความทุกข์นั้นเข้ากัดกินจิตใจจนยากเยียวยา ไม่อาจหายาขนานใดมาสมานแผลนั้นได้ จึงได้เดินเข้าสู่วัดเพื่อหวังใช้ธรรมบรรเทาและเยียวยาหัวใจ"   



 
          เนื่องจากที่นี่เป็นวัดป่าสายวิปัสนา พระท่านจะฉันเพียงมื้อเดียว เวลาลงฉันก็ประมาณ 9.30 น. หากมาหลังเวลานี้ก็อาจไม่ทันถวายภัตตราหาร..


  
        "คนบางคนเข้าวัดเพียงเพื่อมุ่งหวังโชคลาภ ดูดวง หรือแสวงหาวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง อันเป็นแค่เปลือกนอกของพุธศาสนา หาใช่แก่นแท้ตามที่องค์พระศาสดามุ่งหวังไม่.."

       

         นี่เป็นศาลาอเนกประสงค์ที่พระท่านใช้เป็นโรงฉันและให้ญาติโยมนั่งฟังธรรม ตลอดจนรับศีลรับพร รวมถึงใช้รับรองญาติโยมในงานต่างๆ  เช่น งานทอดกระฐินประจำปี  ทอดผ้าป่า และกิจกรรมอื่นๆ


        "หลายคน..ทุ่มเทเรี่ยวแรง และช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตไปให้กับคนอื่น ใช้เวลาหมดไปกับการทำงาน หาเลี้ยงดูครอบครัว  รอว่า..เมื่อแก่ตัวค่อยหันหน้าเข้าวัดก็ยังทัน  แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆ กลับไม่มีเรียวแรงที่จะภาวนา  แม้แต่จะเดินก็ยังลำบาก เพราะสังขารในวัยชราไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรมเสียแล้ว.. "  


        บรรยากาศภายในศาลา หลังคาสูงทรงไทย ด้านข้างเปิดโล่งให้ลมพัดผ่านได้ ไม่ต้องอาศัยพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้สิ้นเปลืองพลังงาน             




        " เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า ชีวิตที่ดำเนินอยู่นี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ฉะนั้นจงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ถนุถนอม และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท "
 


         หลังจากหลวงพ่อแสดงธรรมเทศนา และให้ศีลให้พรแก่ญาติโยมเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาฉันจังหัน ซึ่งกว่าจะได้ฉันก็ปาเข้าไปเกือบ 10 โมงเช้า..



        " หลายคนลืมว่า.. สักวันหนึ่ง เมื่อการเดินทางของชีวิตในโลกนี้สิ้นสุดลง เราทั้งหลายต่างต้องออกเดินทางไกลต่อไป จงหันมองและสำรวจตัวเองว่า..เราได้เตรียมอะไรให้กับชีวิตใว้บ้าง..  เสบียงที่ต้องใช้สำหรับการเดินทางที่แสนยาวไกล...  ท่านเตรียมอะไรใว้แล้วหรือยัง? "


       พระอุโบสถส์.. สถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา ผสมผสานระหว่างไม้และปูน มีห้องด้านล่างเป็นที่พักสำหรับอุบาสกที่มาปฏิบัติธรรมที่วัด..
      ส่วนห้องข้างบน เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติศาสนกิจ ลงอุโบสถส์ ทำวัตรเช้า -เย็น และเป็นที่ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา สำหรับพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาผู้ใคร่ธรรม..

       
        ด้านหน้าและรอบๆอุโบสถส์ ประดับด้วยสวนหย่อม และไม้ดอกหลายชนิด เพิ่มความร่มรื่นสวยงามให้กับสถานที่..


        ถัดจากพระอุโบสถส์มาไม่ไกล จะพบศาลาทรงไทย สถาปัตยกรรมที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์อันสวยงามแบบไทยๆ มาทุกยุคทุกสมัย ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ธรรมชาติที่ร่มรื่น  ที่นี่..เป็นเรือนใช้สำหรับรับรองพระอาคันตุกะผู้ใหญ่ และเป็นที่ลงรับรับแขกของหลวงพ่อเจ้าอาวาส(พระอาจารย์จันดี กนตฺสาโร )


         แม้แต่ห้องน้ำและทางเดินก็ได้รับการออกแบบ และดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่มีขยะและใบไม้ตามพื้นทางเดินให้เห็นเลย..
 


        ตามถนนทางเดินและทางเชื่อมภายในวัด ..สองข้างทางปกคลุมด้วยมวลแมกไม้หลายชนิด ให้ความร่มรื่นและร่มเงาตลอดเส้นทางเดิน

          ด้านตรงข้ามศาลาโรงฉัน จะเป็นส่วนที่พักของคุณยาย(ผู้ดูแลวัด) และอุบาสิกา ผู้มาถือศีลปฏิบัติธรรม ซึ่งแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนกับฝั่งของอุบาสก(ผู้ชาย)  หากใครจะมาขอพักที่วัดเพื่อถือศีลปฏิบัติธรรมจะต้องมาขออนุญาติบอกกล่าวกับคุณยายทีนี่...



         รอบๆบริเวณวัดด้านโรงทาน(โรงอาหาร) จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอาศัยของฝูงปลานานาชนิด ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ และมีผู้ใจบุญเอามาปล่อย เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจยิ่งนัก

        ทั้งยังมีแพกลางน้ำที่ต่อยื่นออกไป สำหรับให้อาหารปลาและนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติรอบๆบริเวณวัดได้อีกด้วย   (ร้านค้าก่อนถึงทางเข้าวัดจะมีขนมปัง และอาหารปลาขายด้วย..)


       เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างช่องเขาพอดี จึงทำให้มีลมพัดผ่านตลอดทั้งปี และเป็นสายลมที่ค่อนข้างแรง ซึ่งทางวัดป่าอัมพวัน ได้ติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ เพื่อนำพลังลมไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในวัดได้อีกด้วย..


       ส่วนเส้นทางที่จะมา วัดป่าอัมพวัน  สำหรับผู้ที่มาครั้งแรกอาจจะหายากสักหน่อย เพราะอยู่ลึกจากถนนใหญ่เข้ามาไกลพอสมควร และเส้นทางบางช่วงวกวน
      ถ้าท่านมาทางสายมอเตอร์เวย์จากกรุงเทพ เมื่อพบป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไป อ.บ้านบึงให้ท่านเลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทาง ถึงถนนใหญ่สายบ้านบึง ขับมาประมาณ 500เมตร จะเห็นสะพานลอยคนข้าม ให้เตรียมชิดขวา แล้วกลับรถมาประมาณ 50 เมตร จะพบป้าย วัดหนองรี และ วัดป่าอัมพวัน  ขับตรงไปประมาณ 3 ก.ม. มีป้ายบอกทางชี้ไปทางซ้าย  ตรงไปอีกประมาณ 2-3 ก.ม. มีป้ายบอก วัดป่าอัมพวัน อ่างเก็บน้ำช่องมะเฟือง ให้เลี้ยวขวาไปตามทางจนสุดสาย ประมาณ 2 ก.ม. ท่านก็จะพบประตูทางเข้าวัด..







       

        สำหรับญาติธรรมผู้สนใจทำบุญ หรืออยากแวะมาเยี่ยมชม นมัสการหลวงพ่อ สามารถดูรายระเอียดได้ที่เว็ปไซด์ของทางวัดที่..http://watpahampawan.com/default.aspx  


      +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


  ศาลาอนุสรสถานหลวงปู่ชา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  นำภาพล่าสุดมาฝากครับ..