ใด ใด ในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้ ก่อเกื้อ รักษา
(จากลิลิตพระลอ ภาษาไทยในวัยเด็ก..)
ชีวิตการทำงานทุกวันนี้ ต้องดิ้นรนแก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เหยียบย่ำคนอื่นเพื่อถีบตัวเองขึ้นไปเป็นใหญ่ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง..
ผู้คนที่เหนื่อยหน่ายกับสังคมจอมปลอมเหล่านี้ นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ "วัด" จึงกลายเป็นสถานที่รองรับ ที่พักใจ สำหรับใครหลายคน ซึ่งแสวงหาสัปปายะสถาน หลบพักใจ เยียวยาดวงจิตที่บอบช้ำจากสังคม แม้จะเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตามที.. ..
วัดป่าวชิรบรรพต จ.ชลบุรี นับเป็นสัปปายะสถานอีกแห่งหนึ่ง สำหรับผู้แสงหาความวิเวก สงบ เรียบง่าย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก ไม่ต้องเที่ยวขับรถไปไกลหลายร้อยกิโลก็สามารถสัมผัสได้ถึงความสงบ ร่มรื่น ภายใต้อ้อมกอดแห่งแมกไม้และป่าเขา ..
วัดป่าวชิรบรรพต ตั้งอยู่เลขที่57/2 ต.หนองข้างคอก อ.เมือง จ.ชลบุรี สามารถดูประวัติของวัดและเยี่ยมชมเวปไซด์ของทางวัดได้ที่ http://www.watpahwachirabanpod.ob.tc/index.html
ผู้เขียนเองเคยได้มีโอกาสไปอาศัยกุฏิเล็กๆ ของวัดป่า วชิรบรรพตแห่งนี้ เพื่อถือศีลเจริญภาวนาอยู่หลายครั้ง ทำให้ได้รับประสบการณ์ดีๆแก่ชีวิต แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น จากการที่ได้ปลดเปลื้องภาระหน้าที่การงานทางสังคม ไปใช้ชีวิต สงบ เรียบง่าย ตื่นนอนตี3ครึ่งเพื่อมาทำวัตรเช้า หลังทำวัตรเสร็จก็ช่วยเก็บกวาดทำความสะอาดเตรียมสถานที่ ใว้รอรับญาติโยมที่จะมาทำบุญ ทั้งยังได้ประสบการณ์แปลกใหม่ของการเป็นเด็กวัด สะพายย่ามเดินตามหลังหลวงพี่ออกบิณฑบาตในยามเช้า ได้เห็นวิถีชีวิตแห่งศรัทธาของชาวบ้าน ที่ตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมของรอใส่บาตรพระ รวมถึงประสบการณ์เสียวในยามที่เดินผ่านนักเลงเจ้าถิ่น ต้องคอยแอบหลังหลวงพี่ เพราะเกรงใจเสียงที่มันเห่าและทำท่าจะเข้ามากัด(หมาอ่ะ) ด้วยไม่คุ้นกลิ่นและสีเหมือนอย่างหลวงพี่..
หลังนี้น่าจะเคยมาพักเมื่อปีที่แล้ว |
กุฎิที่พักพระสงฆ์และอุบาสกผู้มาอาศัยสถานที่ปฏิบัตธรรม |
สิ่งหนึ่งที่รู้สึกประทับใจในวัดป่าแห่งนี้คืออัธยาศรัยไมตรีอันดีของ "หลวงพ่อ" เพราะไปทีไรก็มักจะเห็นหลวงพ่อ พระอาจารย์มหาตอง นั่งสนทนากับญาติโยมอย่างไม่รู้จักเหนื่อยหน่าย จนกลายเป็นภาพที่คุ้นตา ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ขาประจำหรือขาจร ท่านก็ต้อนรับ พูดคุยด้วยความเมตตา แม้บางครั้งท่านจะเจ็บป่วย สุขภาพไม่อำนวยก็มิเคยปฏิเสธญาติโยมที่เข้าชวนท่านสนทนาด้วย..
ยังจำครั้งแรกที่ไปกราบหลวงพ่อได้ เมื่อหลายปีก่อน แม้ไม่เคยรู้จักเรามาก่อน แต่ท่านก็ให้ความเมตตาพูดคุยซักถาม ด้วยรอยยิ้มอย่างเป็นกันเอง แถมยังสอนเรื่องการกราบที่ถูกวิธีให้อีกต่างหาก ตั้งแต่นั้นมา เวลาจะกราบพระที ต้องนึกถึงหลวงพ่อทุกครั้งไป ถ้ากราบไม่ถูกเดี๋ยวหลวงพ่อเสียใจแย่..
ผู้ที่มาถือศีล ปฏิบัติธรรมที่นี่ นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องศีล สมาธิแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องพระอภิธรรมอีกด้วย เพราะทุกครั้งที่ทำวัตรสวดมนต์เสร็จ จะมีท่องพระอภิธรรม เช่น เรื่องของเจตสิก เป็นต้น และทุกวันในช่วงที่ไปอยู่วัด จะเห็นหลวงพ่อท่านลงมานำทำวัตร สวดมนต์อย่างไม่เคยขาดแม้สักครั้งเดียว..
****************************************************************************************
สำหรับผู้ญาติธรรม ท่านใด ที่กำลังมองหาสถานที่ปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษานี้ ก็ลองแวะมาทำบุญหรือเยี่ยมชมสถานที่ และกราบขออนุญาตหลวงพ่อเพื่อเข้าพักได้ทุกวัน หากต้องการสถานที่ร่มรื่น ห่างไกลจากชุมชน สงบ วิเวก วัดป่าวชิรบรรพต น่าจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ตอบโจทย์ให้ท่านได้..
ภาพบรรยากาศทั่วไปของวัดป่า วชิรบรรพต
ทางขึ้นไปพระอุโบสถ สองข้างทางเรียงรายด้วยมวลพฤกษาเขียวขจี โบกกิ่งใบต้อนรับผู้มาเยือนตามแรงลมที่พัดผ่าน บางครั้งจะเห็นกระรอกน้อยวิ่งหยอกล้อเล่นกัน กระโดดข้ามกิ่งไม้ไปมา น่าทัศนายิ่งนัก ดูแล้วให้ความรู้สึกสงบ ร่มรื่น สบายตาสบายใจ ประหนึ่งเดินอยู่ในป่าจริงๆ..
เรือนอุบาสิกา หลังนี้ เป็นที่พักของอุบาสิกา(โยมผู้หญิง) ที่มาปฏิบัติธรรม ตัวอาคารถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย ติดอันดับสถาปัตยกรรมในการออกแบบยอดเยี่ยมระดับประเทศมาแล้ว มีที่พักกว้างขวาง สามารถรองรับคนได้กว่า100คน
ด้านล่างอาคารออกแบบยกสูงให้ลมผ่านได้สะดวก เมื่อเดินเข้ามาจะรู้สึกเย็นสะบาย โดยไม่ต้องอาศัยพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ เหมาะแก่การนั่งสมาธิ และเดินจงกรมเป็นอย่างยิ่ง ส่วนชั้นบนแบ่งเป็นห้องพักอย่างเป็นสัดส่วน มีระเบียงสวยงาม เสียดายที่ไม่มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชม เพราะมีกฎระเบียบห้ามผู้ชายเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต
พระอุโบสถ |
ถัดจาก เรือนอุบาสิกา ขึ้นมาทางเนินเขา จะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบได้อย่างลงตัว ดูงดงาม เรียบง่าย แม้จะไม่มีภาพเกาะสลัก ลวดลายวิจิตรอย่างโบสถ์ทั่วๆไป แต่อาคารไม้หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดงซีด ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ก็ให้ความรู้สึกสงบ ร่มรื่นไปอีกแบบ
ภาพภายนอกพระอุโบสถ (ปัจจุบันถูกปรับภูมิทัศน์รอบนอกไปแล้ว) |
ภายในพระอุโบสถ |
วิวด้านหลังวัด |
ภูมิทัศน์รอบนอกก่อนถึงประตูทางเข้าวัด |
สภาพภูมิประเทศ แถวๆ ต.หนองรี (ไม่ไกลจากวัดมากนัก) |
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
เมื่อวันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมพิธีเวียนเทียนที่วัดป่าวชิรบรรพตอีกครั้ง ทำให้อดนึกถึงวันอาสาฬหบูชาปีที่ผ่านมาไม่ได้ ตอนนั้นไปในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมภายใต้อาภรนุ่งห่มสีขาวบริสุทธิ์ แต่ปีนี้ไปในฐานะพุทธศาสนิกชนคนนึง ได้เห็นอุบาสก อุบาสิกา ที่ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมมากมายก็ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆท่าน..
ขับรถมาถึงวัดราวๆ1ทุ่ม เพราะวันอาสาฬหบูชาปีนี้ (2554) ตรงกับวันศุกร์ ที่โรงงานไม่ได้หยุดให้ เลยต้องแวะมาหลังจากเลิกงานแล้ว ทำให้ได้เห็นความสวยงามของทางเข้าวัด ที่ประดับด้วยโคมผ้า ศีล สมาธิ ปัญญา..สว่างไสวท่ามกลางรัตติกาลอันมืดมิด เรียงรายตามสองข้างทาง ประหนึ่งแส่งสว่างนำทางสู่สรวงสวรรค์..
ต้องขอชื่นชม และยกย่องในความร่วมแรงร่วมใจกับผู้ที่ช่วยกันรังสรรค์ และสร้างจินตนาการที่งดงามเหล่านี้ขึ้นมา จนก่อเกิดภาพที่สวยงามอย่านี้ ขอโมทนาในบุญกุศลกับทุกท่านใว้ ณ ด้วยครับ..
เดินผ่านแนวป่าขึ้นมาบนเนินเขา อันเป็นที่ประกอบพิธีเวียนเทียน ตลอดสองข้างทางมีเสาตะเกียงน้ำมัน ตั้งเรียงราย เป็นระยะ พอได้มองเห็นทาง ให้ความรู้สึกขรึมขลัง เหมือนเดินอยู่ท่ามกลางพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์..
พอใกล้ถึงพระอุโบสถ เสียงสวดมนต์ภาษาบาลี ตามด้วยเสียงแปลภาษาไทย แว่วมาตามสายลมเป็นระยะ ประหนึ่งเสียงบำบวงเหล่าทวยเทพในพิธีกรรมโบราณ
ขึ้นมาถึงพระอุโบสถ ก็จวนจะได้เวลาเวียนเทียนแล้ว พิธีไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเย็นใกล้จะสิ้นสุด มีเวลาให้เดินเก็บภาพบรรยากาศอีกไม่นานก่อนถึงเวลาเวียนเทียน..
องค์พระประธานในอุโบสถ |
พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำวัตร สวดเย็นรอบพระอุโบสถ |
หลวงพ่อนำประกอบพิธี ทำวัตร สวดมนต์ภายในพระอุโบสถ |
หลวงพ่อนำประกอบพิธี ทำวัตร สวดมนต์ภายในพระอุโบสถ |
ญาติโยมด้านนอกร่วมทำวัตร สวดมนต์ด้วยความสงบ สำรวม กายใจ |
อีกมุมหนึ่งที่ญาติโยมร่วมกันทำวัตร สวดมนต์ รอบนอกพระอุโบสถ |
ญาติโยมด้านนอกร่วมทำวัตร สวดมนต์ |
บรรยากาศวันนี้ ดูสงบ เย็นสบาย คงเพราะเมฆฝนตั้งเค้าตั้งแต่หัวค่ำ รอบพระอุโบสถ..สายลมเย็นพัดผ่านมาเป็นระยะๆ แม้ค่ำคืนแห่งปุรณมีดิถีนี้ ท้องฟ้าจะมิได้ทาบทาด้วยแสงสีนวลจากดวงจันทรา แม้ท้องฟ้าจะครึ้มหม่น แต่เม็ดฝนก็มิได้ร่วงหล่นโปรยปรายให้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด จะมีก็เพียงแต่ละอองเล็กๆ พร่างพรมลงมาเพียงบางเบา ประหนึ่งน้ำพระพุทธมนต์จากสรวงสวรรค์ ...
*********************************************************
ข้อคิดและคติเกี่ยวกับการเวียนเทียน.. (เก็บมาฝาก)
การเวียนเทียน คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่นอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยใน วันสำคัญต่างๆ โดยใช้เทียนธูปและดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชา ถือไว้ในมือแล้วเดินเวียน 3 รอบ ขณะที่เดินรอบนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท"อิติปิโส" ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ
เริ่มพิธีเวียนเทียน |
เตรียมจุดธูปเวียนเทียน |
การเวียนเทียน 3 รอบ การเวียนเราจะเวียนขวา ก็คือการเอาสิ่งที่เราเคารพไว้ด้านขวา เรียกว่าความเคารพต่อพระธาตุเจ้า การประทักษิณเราจะต้องตั้งปณิธาน การที่เขาให้เวียน 3 รอบนั้น เพื่อให้รู้สังสารวัฏเรานี้ มันมีเวียนว่ายตายเกิด เหมือนวงล้อมันหมุนไป แล้วมันกลับมาที่เดิมหาเบื้องต้น และเบื้องปลายไม่ได้ สังสารวัฏของเรานี้ไม่มีเบื้องต้น และเบื้องปลาย ถ้าตัวเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว วิญญาณของคนเรานี้ จะไม่มีที่สิ้นสุด
หลวงพ่อเดินนำญาติโยมเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ |
ก้าวเดินด้วยความสงบ อย่างมีสติ |
สังสารวัฏนี้ประกอบด้วย กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ คือ อะไรทำให้วนเวียนคือกรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ คือ ผลของกรรมที่ทำให้วนเวียน กิเลสวัฏฏ์ คือ กิเลสทำให้เรามาวนเวียน
สงบ สำรวม ในทุกย่างก้าว.. |
แสงเทียนแห่งศรัทธา |
สายธารแห่งแสงธรรม |
เหล่าพุทธศาสนิกชนร่วมนั่งสมาธิหลังเวียนเทียนเสร็จแล้ว |
นั่งสมาธิหลังจากเวียนเทียนเสร็จ |
นั่งสมาธิหลังจากเวียนเทียนเสร็จ |
นั่งสมาธิหลังจากเวียนเทียนเสร็จ |
ตราบใดที่ชีวิตคนเราที่ยังต้องเวียนเกิดเวียนว่าย เวียนตายเวียนดับ ตราบนั้นชีวิตก็ยังประสบกับความทุกข์อย่างมิอาจปฏิเสธได้
พระพุทธองค์กล่าวว่า " ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เป็นทุกข์ ความแห้งแล้ง หรือความโศรกเศร้า ความพิไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันไม่เป็นที่พอใจ ปรารถนาอะไรมิได้ดังใจหมาย ทั้งหมดนี้..ล้วนเป็นทุก์"
เราทั้งหลาย จงอย่าหวังอะไรให้มากนัก จงมองดูชีวิตอย่างผู้ช่ำชอง อย่าวิตกกังวลอะไรล่วงหน้า ชีวิตนี้เหมือนเกลียวคลื่น ซึ่งก่อตัวขึ้นแล้วม้วนเข้าหาฝั่ง และแตกกระจายเป็นฟองฝอย จงยืนมองดูชีวิตเหมือนคนผู้ยืนอยู่บนฝั่ง มองดูเกลียวคลื่นในมหาสมุทรฉะนั้น...
นะโมพุทธายะ
********************************************************
แผนที่ทางไปวัดป่าวชิรบรรพต ( ที่มา:http://www.watpahwachirabanpod.ob.tc/index.html)
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก เป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัย ครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธี อาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา อันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล ....
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เยี่ยมมากค่ะคุณพี่ หวังว่าคงมีโอกาสสักวันได้ไปทำบุญที่วัดค่ะ
ตอบลบคนไกลบ้าน
เมืองผู้ดี
กลับมาเดี๋ยวพาไปทำบุญ
ตอบลบรูปสวยมากทุกรูปเลยค่ะ สาธุโมทนาด้วยค่ะ
ตอบลบหนึ่ง
สวัสดีคะ
ตอบลบชอบแนวความคิดในการเขียนเรื่องราวของวัดป่าวชิรบรรพต และการถ่ายถอดความรู้สึกมากคะ ขอเชิญมาร่วมทำหนังสือวัดป่าวชิรบรรพตเล่มปรับปรุงด้วยกันนะคะ คิดว่าคุณคงได้มีโอกาสอ่านหนังสือแล้ว หลวงพ่อมีดำริให้มีการแก้ไขข้อความในช่วงของโยม สีชมพูและสีเขียว (เรื่องสั้นและยาว) อยากให้เข้ามาช่วยกันสร้างสรรบทความที่ดี เพื่อถ่ายทอดเจตนารมณ์ของหลวงพ่อมหาตองคะ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ยังไงรับไว้พิจารณาด้วยนะคะ
โมทนาบุญคะ นวล
ไม่รู้ทำไม่ช่วงนี้หน้าเวปมันเพื้ยนๆอ่ะ Template ก็ตั้งค่าไม่ได้ blogspot ชวยที..
ตอบลบสิ่งปรากฏทางตาข้างบน งดงามชื่นใจจัง เห็นไหมโลภโมห ขันธ์5เกิดแล้ว ดับแล้ว เพราะเหตุ ปัจจัย มันเป็นธรรมดาไม่ใช่เรา
ตอบลบชีวิต..เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสูญ น้อยคนนักที่จะเข้าใจ พุทธวจนะนี้อย่างแจ่มแจ้ง แม้จะรู้ว่าท้ายที่สุด ชิวิตต่างก็ก้าวเดินไปสู่มรรคาแห่งความตาย และกลับมาเวียนเกิดเวียนตายอย่างไม่มีที่สุดสุด แต่ก็มนุษย์ผู้น่าสงสารก็มิยอมทำตัวเพื่อก้าวพ้นวัฏสงสารนี้..
ตอบลบ