วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เงาจันทร์ในขันน้ำ

   สิ่งที่เรามองเห็น บางทีก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้เสมอไป เหมือนคนที่มองเงาจันทร์ในขันน้ำ แล้วกระโดดคว้าเอาใว้ เขาหาได้คว้าได้พระจันทร์ไม่ หากเป็นเพียงขันน้ำต่างหาก
    คนเรามักใช้สายตามากกว่าสมองคิดไตร่ตรอง แล้วก็หลงเชื่อในสิ่งที่สายตามองเห็น ปรุงแ่ต่ง นึกคิดไปเอง สุดท้ายก็ต้องเจ็บช้ำ ผิดหวัง เมื่อสิ่งที่ไขว่คว้ามาได้ หาใช่สิ่งที่นึกหวังไม่..
    ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับคนเรา ล้วนมาจากจิตที่ปรุงแต่งขึ้นจาก รูป รส กลิ่น เสี่ยง สัมผัส รูปกายที่สวยงาม รสรักที่ซาบซ่าน กลิ่นกายที่หอมหวนรัญจวนใจ เสียงใสไฟเราะเสนาะโสต ผิวกายที่นุ่มนวลชวนสัมผัส ..สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องหลอกล่อจิต ให้ปรุงแต่ง กลายเป็นความหลงใหลใฝ่ปอง ยึดมั่นถือมั่น คิดครอบครองเป็นเจ้าของ  ท้ายที่สุด..ก็พบแต่ความว่างเปล่า และความทุกข์ใจอยู่ร่ำไป..

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ชีวิต ความรัก และเปลวไฟ

    ชีวิตนี้ก็ดี ความรักก็ดี เป็นความร้ายกาจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความรักเป็นสิ่งที่ทารุณ และเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักหาได้ให้ความสมหวังแก่ใครได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการไม่  ยิ่งเป็นความรักที่ฉาบทาลูบไล้ด้วยความเสน่ห์ด้วยแล้ว จะเป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้ทุรนทุราย ดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น 


     ความสุขที่เกิดจากความรักนั้น เป็นเสมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง พระศาสนาจึงทรงได้ตรัสเตือนไว้ว่า ขอเราทั้งหลายอย่าได้พอใจในเรื่องรักเลย 

      เมื่อ หัวใจถูกลูบไล้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า และทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังจะรอเราอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าหวังอะไรให้มากนัก จงมองดูชีวิต อย่าผู้ที่กำลังศึกษา และเรียนรู้ อย่าวิตกกังวลล่วงหน้า ชีวิตนี้ เป็นเสมือนคลื่นที่ก่อตัวขึ้นแล้วก็ม้วนตัวเข้าหาฝั่งแตกกระจายเป็นฟองฝอย จงยืนมองดูชีวิต เหมือนคนที่ยืนมองคลื่นอย่าบนฝั่งมองดูเกลียวคลื่นในมหาสมุทร      
     ความ รักเป็นหลุมพรางที่ดักไว้  โดยมีรูป เสียง กลิ่น สัมผัส เป็นเครื่องมือ เมื่อดักผู้ใดได้แล้ว ย่อมยำยี ห้ำหั่นเสียดแทง ให้เจ็บช้ำระกำไปจนตายในที่สุด อันธรรมดาบุคคลนั้น เมื่อแสดงบทรัก ย่อมไม่ต้องการบุคคลที่สาม แต่เมื่อเจ็บปวดจากความรักนั้น เขาจึงต้องการบุคคลที่ สาม สี่ เรื่อยไป ไม่สิ้นสุด

     ความรักความใคร่ ช่างชาญฉลาดในการหลอกล่อ ให้ไปติดเสียนี่กระไร ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้เราแสวงหาพระธรรมเป็นที่พึ่งแห่งชีวิต ไม่ปล่อยใจให้ลุ่มหลงไปกับความงามอันยียวนอารมณ์  

     ความเกิดขึ้นแห่งกิเลสตัณหา เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์   ทุกข์มีสาเหตุมาจากกิเลส ตัณหา เป็นแดนเกิด และจะดับก็ต้องดับเหตุนั้น  

      หากต้องการให้ความร้อนดับ ต้องดับไฟซึ่งเป็นมูลเหตุนั้น ฉันใด ความทุกข์ก็ฉันนั้น..