วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดป่าอัมพวัน ชลบุรี

       ถานที่สัปปายะ.. แวดล้อมด้วยหุบเขาเงาป่า และสายน้ำ ให้ความรู้สึกสงบ ร่มเย็นทุกครั้งที่มาเยือน "วัดป่าอัมพวัน" นับเป็นอีกที่หนึ่งของผู้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม  ทั้งเพื่อหวังขัดเกลากิเลสตัณหาในใจมุ่งสู่ทางหลุดพ้น หรือเพียงเพื่อมาสงบจิตใจในยามที่มรสุมแห่งความทุกข์พัดผ่านเข้ามาในชีวิต..
      วัดป่าอัมพวัน ซึ่งเป็นวัดสาขาวัดหนองป่าพงที่ 42ตั้งอยู่ในเขต ต.หนองรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ทางที่จะไปบ้านบึง (ดูแผนที่ข้างล่าง) เป็นวัดป่ากรรมฐานในสายพระโพธญาณเถร (หลวงพ่อชาสุภัทโท)

                                          ป้ายบอกทางไปวัดป่าอัมพวัน
       จากปากทางถนนสายชลบุรี-บ้านบึง เข้ามาประมาณ 3-4 ก.ม. จะเห็นป้ายบอกทางเป็นระยะ นำทางมุ่งสู่เชิงเขาที่ติดกับอ่างเก็บน้ำช่องมะเฟือง อันเป็นที่ตั้งของ วัดป่าอัมพวัน  
 
     
        ผ่านประตูวัดเข้าไปจะเห็นกวางสองตัวนี้นอนเฝ้าธรรมจักรกับอยู่ด้านขวามือติดกับริมรั้ว


       "ตราบใดที่คนเรายังคงมุ่งแสวงหาความสุขจากภายนอก ความสุขแบบโลกๆที่ต้องพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ จากคนอื่น ..ตราบนั้น เราก็ยังต้องวนเวียนอยู่ในกองทุกข์เรื่อยไปอย่างไม่มีวันสิ้นสด.."


           หากจะมาทำบุญในตอนเช้าที่ วัดป่าอัมพวัน แห่งนี้ ขอแนะนำให้มาถึงวัดก่อนเวลา9.00น.
หรือถ้าจะให้ดีควรมาถึงวัดช่วง 7.00-8.30 เพื่อจะได้มีเวลาจัดสำรับอาหารและหาที่นั่งบนศาลาเพื่อฟังธรรมและรับศีลรับพรจากหลวงพ่อ.. 


      "คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงวัดเมื่อในยามที่ชีวิตประสบความทุกข์ จะหันหน้าหาธรรมก็ต่อเมื่อความทุกข์นั้นเข้ากัดกินจิตใจจนยากเยียวยา ไม่อาจหายาขนานใดมาสมานแผลนั้นได้ จึงได้เดินเข้าสู่วัดเพื่อหวังใช้ธรรมบรรเทาและเยียวยาหัวใจ"   



 
          เนื่องจากที่นี่เป็นวัดป่าสายวิปัสนา พระท่านจะฉันเพียงมื้อเดียว เวลาลงฉันก็ประมาณ 9.30 น. หากมาหลังเวลานี้ก็อาจไม่ทันถวายภัตตราหาร..


  
        "คนบางคนเข้าวัดเพียงเพื่อมุ่งหวังโชคลาภ ดูดวง หรือแสวงหาวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง อันเป็นแค่เปลือกนอกของพุธศาสนา หาใช่แก่นแท้ตามที่องค์พระศาสดามุ่งหวังไม่.."

       

         นี่เป็นศาลาอเนกประสงค์ที่พระท่านใช้เป็นโรงฉันและให้ญาติโยมนั่งฟังธรรม ตลอดจนรับศีลรับพร รวมถึงใช้รับรองญาติโยมในงานต่างๆ  เช่น งานทอดกระฐินประจำปี  ทอดผ้าป่า และกิจกรรมอื่นๆ


        "หลายคน..ทุ่มเทเรี่ยวแรง และช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตไปให้กับคนอื่น ใช้เวลาหมดไปกับการทำงาน หาเลี้ยงดูครอบครัว  รอว่า..เมื่อแก่ตัวค่อยหันหน้าเข้าวัดก็ยังทัน  แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆ กลับไม่มีเรียวแรงที่จะภาวนา  แม้แต่จะเดินก็ยังลำบาก เพราะสังขารในวัยชราไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรมเสียแล้ว.. "  


        บรรยากาศภายในศาลา หลังคาสูงทรงไทย ด้านข้างเปิดโล่งให้ลมพัดผ่านได้ ไม่ต้องอาศัยพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศให้สิ้นเปลืองพลังงาน             




        " เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่า ชีวิตที่ดำเนินอยู่นี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ฉะนั้นจงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ถนุถนอม และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท "
 


         หลังจากหลวงพ่อแสดงธรรมเทศนา และให้ศีลให้พรแก่ญาติโยมเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาฉันจังหัน ซึ่งกว่าจะได้ฉันก็ปาเข้าไปเกือบ 10 โมงเช้า..



        " หลายคนลืมว่า.. สักวันหนึ่ง เมื่อการเดินทางของชีวิตในโลกนี้สิ้นสุดลง เราทั้งหลายต่างต้องออกเดินทางไกลต่อไป จงหันมองและสำรวจตัวเองว่า..เราได้เตรียมอะไรให้กับชีวิตใว้บ้าง..  เสบียงที่ต้องใช้สำหรับการเดินทางที่แสนยาวไกล...  ท่านเตรียมอะไรใว้แล้วหรือยัง? "


       พระอุโบสถส์.. สถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา ผสมผสานระหว่างไม้และปูน มีห้องด้านล่างเป็นที่พักสำหรับอุบาสกที่มาปฏิบัติธรรมที่วัด..
      ส่วนห้องข้างบน เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติศาสนกิจ ลงอุโบสถส์ ทำวัตรเช้า -เย็น และเป็นที่ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา สำหรับพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาผู้ใคร่ธรรม..

       
        ด้านหน้าและรอบๆอุโบสถส์ ประดับด้วยสวนหย่อม และไม้ดอกหลายชนิด เพิ่มความร่มรื่นสวยงามให้กับสถานที่..


        ถัดจากพระอุโบสถส์มาไม่ไกล จะพบศาลาทรงไทย สถาปัตยกรรมที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์อันสวยงามแบบไทยๆ มาทุกยุคทุกสมัย ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ธรรมชาติที่ร่มรื่น  ที่นี่..เป็นเรือนใช้สำหรับรับรองพระอาคันตุกะผู้ใหญ่ และเป็นที่ลงรับรับแขกของหลวงพ่อเจ้าอาวาส(พระอาจารย์จันดี กนตฺสาโร )


         แม้แต่ห้องน้ำและทางเดินก็ได้รับการออกแบบ และดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่มีขยะและใบไม้ตามพื้นทางเดินให้เห็นเลย..
 


        ตามถนนทางเดินและทางเชื่อมภายในวัด ..สองข้างทางปกคลุมด้วยมวลแมกไม้หลายชนิด ให้ความร่มรื่นและร่มเงาตลอดเส้นทางเดิน

          ด้านตรงข้ามศาลาโรงฉัน จะเป็นส่วนที่พักของคุณยาย(ผู้ดูแลวัด) และอุบาสิกา ผู้มาถือศีลปฏิบัติธรรม ซึ่งแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนกับฝั่งของอุบาสก(ผู้ชาย)  หากใครจะมาขอพักที่วัดเพื่อถือศีลปฏิบัติธรรมจะต้องมาขออนุญาติบอกกล่าวกับคุณยายทีนี่...



         รอบๆบริเวณวัดด้านโรงทาน(โรงอาหาร) จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอาศัยของฝูงปลานานาชนิด ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ และมีผู้ใจบุญเอามาปล่อย เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจยิ่งนัก

        ทั้งยังมีแพกลางน้ำที่ต่อยื่นออกไป สำหรับให้อาหารปลาและนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติรอบๆบริเวณวัดได้อีกด้วย   (ร้านค้าก่อนถึงทางเข้าวัดจะมีขนมปัง และอาหารปลาขายด้วย..)


       เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างช่องเขาพอดี จึงทำให้มีลมพัดผ่านตลอดทั้งปี และเป็นสายลมที่ค่อนข้างแรง ซึ่งทางวัดป่าอัมพวัน ได้ติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ เพื่อนำพลังลมไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในวัดได้อีกด้วย..


       ส่วนเส้นทางที่จะมา วัดป่าอัมพวัน  สำหรับผู้ที่มาครั้งแรกอาจจะหายากสักหน่อย เพราะอยู่ลึกจากถนนใหญ่เข้ามาไกลพอสมควร และเส้นทางบางช่วงวกวน
      ถ้าท่านมาทางสายมอเตอร์เวย์จากกรุงเทพ เมื่อพบป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายไป อ.บ้านบึงให้ท่านเลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทาง ถึงถนนใหญ่สายบ้านบึง ขับมาประมาณ 500เมตร จะเห็นสะพานลอยคนข้าม ให้เตรียมชิดขวา แล้วกลับรถมาประมาณ 50 เมตร จะพบป้าย วัดหนองรี และ วัดป่าอัมพวัน  ขับตรงไปประมาณ 3 ก.ม. มีป้ายบอกทางชี้ไปทางซ้าย  ตรงไปอีกประมาณ 2-3 ก.ม. มีป้ายบอก วัดป่าอัมพวัน อ่างเก็บน้ำช่องมะเฟือง ให้เลี้ยวขวาไปตามทางจนสุดสาย ประมาณ 2 ก.ม. ท่านก็จะพบประตูทางเข้าวัด..







       

        สำหรับญาติธรรมผู้สนใจทำบุญ หรืออยากแวะมาเยี่ยมชม นมัสการหลวงพ่อ สามารถดูรายระเอียดได้ที่เว็ปไซด์ของทางวัดที่..http://watpahampawan.com/default.aspx  


      +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


  ศาลาอนุสรสถานหลวงปู่ชา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  นำภาพล่าสุดมาฝากครับ..